Light of Life : นิทรรศการแสงไฟ กลไก และภาพเงา ที่บอกเล่าการเดินทางของชีวิต

ประมวลภาพบรรยากาศพิธีเปิดงาน “Light of Life” นิทรรศการแสงไฟ กลไก และภาพเงา ที่บอกเล่าการเดินทางของชีวิต  เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) จ.เชียงราย

โดย ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมด้วย คุณภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และคุณธัชพล สุนทราจารย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการ บริษัท ภูมิสถาปนิก Landscape Collaboration จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้

“ก้าวแรกในการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ใน จ.เชียงราย ก็เริ่มต้นที่อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง พื้นที่แห่งนี้มีมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมหาศาลที่เราอยากเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ในโอกาสครบรอบ 50 ปี การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในปี 2565 จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Light of Life โดยเริ่มต้นจากการชักชวนเหล่าดีไซเนอร์มาร่วมออกแบบสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบใหม่ บนแนวคิดการนำเสนอแสงไฟสีขาวทั่วทั้งงาน สะท้อนการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างส่องนำทางสังคมเสมอมา ตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนและชุมชน และถือเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดพื้นที่แห่งนี้ต้อนรับทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในจังหวัดเชียงรายได้เข้ามาทำความรู้จักไร่แม่ฟ้าหลวงมากขึ้น”

ม.ล.ดิศปนัดดา ระบุ

พิธีเปิดงาน Light of Life ได้รับเกียรติจาก คุณสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ อ.นคร พงษ์น้อย ที่ปรึกษาคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ ผอ.อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง เข้าร่วมงานอย่างชื่นมื่น

ขณะที่ อ.สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ ร่วมกับ อ.ฉลอง พินิจสุวรรณ ศิลปินเชียงราย และ อ.เชิด สันดุษิต จิตรกร กวีเชียงราย มาร่วมสร้างปรากฏการณ์ภายในงานด้วยการแสดงวาดภาพจิตรกรรมประกอบการอ่านบทกวี และบรรเลงปี่น้ำเต้า กลายเป็นภาพบรรยากาศ “เชียงรายเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงศิลปะ” อันงดงาม

จากนั้นเป็นการสร้างปรากฏการณ์เปิด “จุดกำเนิด” Lighting Installation Art ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ในสระบัวใจกลางไร่แม่ฟ้าหลวง ผลงานการออกแบบโดย พล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ต และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์นิทรรศการ Light of Life แสงสีขาวที่ค่อย ๆ เปล่งสว่างไสวปรากฏแก่สายตาผู้ร่วมงาน เปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดแสง จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดในนิทรรศกาลแห่งนี้

ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเปิดประสบการณ์ออกเดินทางไปด้วยกัน ตั้งแต่วันนี้จนถึง 29 ม.ค. 2566  ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 17.00-22.00 น. ตราตรึงไปกับ Lighting Installation Art  นับสิบผลงาน โดย 5 ศิลปินหลัก 1 ศิลปินรับเชิญพิเศษ และสตูดิโอ 5 แห่ง คุณภาพระดับประเทศ | เพลิดเพลินไปกับกาดหมั้วในสวนริมสระบัว ร้านอร่อยเจียงฮาย การแสดงศิลปะและดนตรีสดจากเหล่าศิลปิน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จ.เชียงราย

  • บัตรเข้าชมราคาปกติ 200 บาท
  • บัตรเข้าชมราคาพิเศษ 100 บาท [ สำหรับประชาชนที่มีภูมิลำเนาและทำงานใน จ.เชียงราย | นักเรียน นักศึกษา (ถึงระดับปริญญาตรี) | ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ]

#LightofLife #ไร่แม่ฟ้าหลวง #อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง #MaeFahLuangArtandCulturalPark #เที่ยวเชียงราย #เชียงราย

สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9 เที่ยวสุขใจในแบบ “Future Forest” ส่งต่อเมล็ดพันธุ์ดีช่วยกันดูแล “ป่าของวันพรุ่งนี้”

มาร่วมค้นหาความหมายและทบทวนความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “ป่า” ผ่าน 4 โซนกิจกรรมสุดสร้างสรรค์และการละเล่นใกล้ชิดธรรมชาติแสนสนุก เติมเต็มรอยยิ้มอย่างอิ่มเอม พร้อมอิ่มอร่อยกับร้านค้าร้านอาหารวัฒนธรรมชนเผ่า ท่ามกลางสายลมหนาว ทิวเขา และม่านหมอก ในเทศกาลประจำปี “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9” ที่ในปีนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Future Forest” เด่นด้วยกิจกรรมไฮไลต์งานศิลปะกลางแจ้ง “หนึ่งคน หนึ่งต้นไม้ หนึ่งป่า” และ “สวนสะท้อนตัวตน” เพื่อให้นักท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผืนป่าไทยให้ยั่งยืน

พิธีเปิดงานสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9 จัดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2665 ที่ผ่านมา ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย โดย นายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฏิบัติการธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 50 ปี การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในปี 2565 นี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังคงยึดมั่นในการสานต่อแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า ปลูกคน” ของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดงาน Future Forest หรือ ป่าของวันพรุ่งนี้ ที่จะบ่มเพาะความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนกับป่า ให้คนที่มาเยือนงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงได้ซึมซับผ่านการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “เมล็ดพันธุ์สีเขียว” ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งใจส่งมอบให้นี้จะงอกงามในใจนักท่องเที่ยว และช่วยกันส่งต่อให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยช่วยกันดูแลรักษาผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ รักษารากวัฒนธรรมที่สวยงามให้คงอยู่คู่สังคมตราบนาน

“กว่าดอยตุงจะสวยงามได้อย่างนี้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี เมื่อก่อนเรามีป่าเพียงแค่ร้อยละ 28 แต่การปลูกป่าภายในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทำให้ปัจจุบันเรามีพื้นที่ป่ามากถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด และป่าดอยตุงไม่ใช่แค่พื้นที่มีไม้ยืนต้นเขียวชอุ่ม แต่นับเป็นพื้นที่แห่งการเกื้อกูลของสิ่งมีชีวิต ผ่านการจัดสรรการใช้พื้นที่ป่าที่หลากหลายเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กำลังเดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำด้านการรักษาป่าผ่านการดำเนินงานผลิตคาร์บอนเครดิตป้อนภาคธุรกิจ อีกทั้งเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2560 ถือว่าเป็นงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้ถุงพลาสติก เน้นใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ และวัสดุจากธรรมชาติ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เชื่อว่าเราทุกคนสามารถช่วยกันดูแลปกป้องผืนป่าได้ด้วยสองมือ และเริ่มต้นได้ทันทีจากตัวของเราเอง มาเริ่มไปด้วยกันนะครับ” นายประเสริฐ ระบุ

งานสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9 ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิเอสซีจี ภายในงานชวนให้เพลิดเพลินไปกับ 4 โซนกิจกรรมน่าสนใจ  ไม่ว่าจะเป็น โซนกิจกรรมและมุมถ่ายรูปกับ “มุมสนุก” พบกับกิจกรรมไฮไลต์ของเทศกาลเป็นงานศิลปะกลางแจ้ง “หนึ่งคน หนึ่งต้นไม้ หนึ่งป่า” ที่ชวนให้นักท่องเที่ยววาดต้นไม้ของตัวเองคนละ 1 ต้น บนกระดาษสังเคราะห์ไทเวคผืนใหญ่จนกลายเป็นผืนป่าของพวกเรา โดยเมื่อสิ้นสุดงานเทศกาลจะนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน มอบให้เยาวชนในศูนย์เด็กใฝ่ดีของทางมูลนิธิฯ และ “สวนสะท้อนตัวตน” การวางกระจกเงาวัสดุจากฝีมือมนุษย์อย่างมีชั้นเชิงท่ามกลางธรรมชาติสวยสด เงาในกระจกสะท้อนทั้งมนุษย์และธรรมชาติไปมาไม่รู้จบ แสดงถึงความเพิ่มพูนของแมกไม้และตัวคนที่จะอยู่ร่วม ดูแล และเติบโตไปด้วยกันอย่างเป็นอนันต์  รวมถึงดนตรี แฟชั่นโชว์จากชนเผ่า ชวนรู้จักดอยตุงให้มากขึ้นผ่าน “Doi Tung & Animal Kingdom” และ “Zero Waste to Landfill & Doi Tung Communities” เวิร์กช็อปสินค้าทำมือใส่ใจสิ่งแวดล้อมภายในซุ้มฮักโลก ฮักเฮา และซุ้มเพลิดเพลินที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ความเป็นดอยตุงที่สร้างความประทับใจและรอยยิ้มให้กับทุกคน

ต่อด้วยโซนอาหารกับ “มุมอร่อย” ที่พร้อมเสิร์ฟ 4 เมนูพิเศษจากครัวตำหนัก เต็มอิ่มกับอาหารชนเผ่ารสเลิศ ขนมหากินยาก เครื่องดื่มสูตรพิเศษจากคาเฟ่ดอยตุง มุมสบาย และร้านค้าชุมชน แล้วแวะมาจับจ่ายของฝากที่ โซนของฝากกับ   “มุมช้อป” ณ กาดดอยตุงและหัตถกรรมชนเผ่า หากชอบเสื้อผ้าหรือของตกแต่งบ้านที่เป็นงานคราฟต์ดีไซน์ร่วมสมัยและรักษ์โลก ก็มีจำหน่ายที่ร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ ยังพรั่งพร้อมด้วยไม้ประดับนานาพันธุ์จากร้านต้นไม้ดอยตุง และพบกับรายการสินค้าราคาดี ราคาเดียว ได้ที่โซนนี้ ตบท้ายที่โซนพักผ่อนกับ “มุมชิล” ที่สามารถพาตัวเองไปชาร์จพลังชีวิตด้วยพลังจากธรรมชาติบนดอยตุงในหลายสถานที่ละลานตา ทั้งสวนแม่ฟ้าหลวง สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง (ดอยช้างมูบ) พระตำหนักดอยตุง เป็นต้น

เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงในปีนี้ ยังคงมาตรการรักษาความปลอดภัยจากการระบาดของ COVID-19 โดยมีบริการเจลแอลกอฮอล์ และขอให้นักท่องเที่ยวทุกคนสวมหน้ากากขณะเข้าเที่ยวชมภายในบริเวณงาน และเปิดให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าบริเวณงานได้ (Pet-Friendly) แต่ขอให้ดูแลรักษาความสะอาด

สนุกกับประสบการณ์ท่องเที่ยวและนานากิจกรรมจากเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9 แบบคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว Future Forest ได้ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2565 – 29 มกราคม 2566 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2565 เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 9 ได้ที่ www.facebook.com/DoiTungClub, โทร. 02-252-7114 หรือ 053-767-015-7.

#สีสันแห่งดอยตุงครั้งที่9 #FutureForest #ป่าของวันพรุ่งนี้ #มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ #MLFL #เที่ยวเชียงราย #เชียงราย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดงาน “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 8” ชวนคนไทยใช้อ้อมกอดธรรมชาติฟื้นฟูจิตใจจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านเทคโนโลยี AR สุดอบอุ่น

ได้เวลาเติมความสุขส่งท้ายปี เพื่อสร้างรอยยิ้มและความรู้สึกดีๆ รับปีใหม่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ชวนเที่ยวงาน สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “Forward to Nature” ชวนนักท่องเที่ยวมุ่งสู่อ้อมกอดของขุนเขา สัมผัสลมหนาว และวัฒนธรรมชนเผ่าอีกครั้ง หลังห่างหายจากธรรมชาติมานานนับปีเนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมพบกิจกรรมไฮไลต์สุดสนุกให้นักท่องเที่ยวได้บันทึกความประทับใจจากดอยตุงเป็นที่ระลึกกลับบ้านผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented reality – AR)

งานจัดขึ้น ระหว่าง 3 ธันวาคม 2564 – 30 มกราคม 2565 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย โดยได้จัดพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานมากมาย อาทิ ว่าที่ร้อยตรีณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, จันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์, บุษกร ตรีสวัสดิ์, ภาวินี ไชยสิทธิ์, มณฑา กิติมา, วิสูตร บัวชุม เป็นต้น เมื่อวันก่อน        

นายณรงค์ อภิชัย ประธานสายปฏิบัติการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า  สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เกือบสองปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้คนไทยและคนทั่วโลกจำเป็นต้องลดการออกจากบ้านและการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและติดเชื้อ กระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ประเทศไทยเริ่มเปิดเส้นทางต้อนรับผู้คนจากทั่วโลกอีกครั้ง เช่นเดียวกับ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ที่เปิดบ้านรับนักท่องเที่ยวด้วยเทศกาลประจำปี “สีสันแห่งดอยตุง” ซึ่งจัดติดต่อกันมาเป็นครั้งที่ 8 แล้ว เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

“เราเชื่อว่าธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ วัฒนธรรมชนเผ่าที่หาชมยาก และมิตรภาพของชาวดอยตุงจะช่วยเยียวยาจิตใจชาวไทยและชาวต่างชาติที่เผชิญสถานการณ์โควิด-19 มายาวนานได้มีความสุขท่ามกลางอากาศเย็นสดชื่น ส่วนผู้ประกอบการในพื้นที่ก็ได้พัฒนาศักยภาพตนเองและเกิดความภาคภูมิใจในการให้บริการผู้มาเยือนอย่างอบอุ่น ช่วยสร้างรอยยิ้มให้กันและกันอีกครั้ง นอกจากการสร้างสรรค์ประสบการณ์อันน่าประทับใจแล้ว โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของผู้มาร่วมงาน ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าเราปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งผ่านมาตรฐานการประเมินของกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อย”

สำหรับกิจกรรมในงานปีนี้ นอกเหนือจากความบันเทิงครบรสอย่างวิวทิวทัศน์ อาหาร งานหัตถกรรม และการแสดงแล้ว งานในปีนี้ยังเอาใจคนรุ่นใหม่ด้วยจุดถ่ายรูปไฮไลต์ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented reality – AR) ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถไปถ่ายรูปกับตัวการ์ตูนผ่านแอพพลิเคชัน AR ที่ซ่อนตัวอยู่ตามหุบเขาและบริเวณงาน อย่าง โตสีส้มอุดมโชค โตสีชมพูใจฟูรักปัง โตสีทองเงินกองงานพุ่ง โตสีน้ำเงินเติมเต็มความสุขเพื่อเก็บความโชคดีในด้านต่างๆ ตามแบบฉบับความเชื่อของชาวดอยตุงกลับบ้านกัน เป็นการเติมพลังความสดชื่นให้ตนเองได้ไม่รู้จบ เมื่อต้องกลับสู่วิถีชีวิตปกติใหม่ (new normal) ในชีวิตประจำวันที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเอสซีจี และ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

พบความสนุกในเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 8 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ในระหว่างเดือนธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 8 ได้ที่ www.facebook.com/ DoiTungClub, โทร. 02-252-7114 หรือ 053-767-015-7

ดอยตุง จัดงาน DoiTung Thank You Sale 2021

ครั้งแรกบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ลดจัดหนักสูงสุด 70% กระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนฝีมือชุมชนบนดอยตุง

แม้จะคลายล็อกดาวน์แต่เพื่อความปลอดภัย แบรนด์ “ดอยตุง” ธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน DoiTung Thank You Sale 2021 บนแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นเป็นครั้งแรก! พร้อมยกขบวนผลิตภัณฑ์งานมือคุณภาพที่ผสมผสานฝีมือชุมชนบนดอยตุงเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัยของนักออกแบบมืออาชีพ มาลดราคา 30-70% ให้นักช้อปเลือกซื้อกันอย่างสนุกสนานและปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 15-30 กันยายน 2564

งานนี้คอกาแฟพบกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ กาแฟแคปซูล ตราดอยตุง กาแฟอาราบิก้าแท้ที่สามารถใช้กับเครื่อง Nespresso อัดแน่นมาในแคปซูลอะลูมิเนียมรีไซเคิลได้ พร้อมเอาใจคนรักสุขภาพกับผลิตภัณฑ์แมคคาเดเมีย น้ำผึ้งดอกแมคคเดเมีย อาหารสูตรพิเศษจากครัวตำหนัก พลาดไม่ได้กับโปรโมชันดีๆ มีให้ช้อปเพียบ

นอกจากนี้ยังมีสินค้าแฟชั่น ของตกแต่งบ้าน ตลอดจนสินค้ารักษ์โลกที่มีมาให้เลือกกว่า 400 รายการ สามารถสอบถามข้อมูลและติดตามรายละเอียดของงานได้ที่ shop.doitung.com หรือ  shop.line.me/@doitung_lifestyle

“ดอยตุง” เดินหน้าสร้างสรรค์ “คอลเลกชัน” เพื่อโลกในวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้กว่า 8 ล้านตัน จมอยู่ในมหาสมุทรและเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี กลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง ดอยตุงขอมีส่วนช่วยลดปัญหาขยะด้วยกระบวนการรีไซเคิล ที่นำเส้นใยพลาสติกมาสร้างสรรค์เป็นผลงานอันประณีต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยช่างฝีมือดอยตุง

ด้วยความตั้งใจสร้างสรรค์งานมือที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด HOMEWARE คอลเลกชัน AUTUMN / WINTER 2020 ของดอยตุง จึงแฝงรายละเอียดที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ คงความคลาสสิกด้วยรูปทรงอิสระพลิ้วไหวและโทนสี ขาว เทา ฟ้าที่เน้นสมดุลแห่งความเรียบง่าย มีดีไซน์ และฟังก์ชันในการใช้งานที่หลากหลาย ตอบโจทย์แฟชั่นในยุคปัจจุบัน ได้อย่างลงตัว ในขณะเดียวกันยังยึดแนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดผลกระทบต่อธรรมชาติ ตลอดจนลดการใช้ทรัพยากรใหม่ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานจากขยะพลาสติกในท้องทะเล เพื่อโลกในวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

สำหรับคอลเลกชันใหม่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมของดอยตุง ได้แก่ พรมยิงเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล คอลเลกชันสัตว์ในท้องทะเล ผลิตจากเส้นใยพลาสติกล้วน ไม่ผสมเส้นใยอื่น และเป็นพลาสติกรีไซเคิลจากขยะในท้องทะเล จึงเป็นที่มาของการออกแบบพรมเป็นรูปสัตว์ทะเล ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือเส้นใยพลาสติกจะทนทานกว่าเส้นใยธรรมดา พรมยิงคอลเลกชันสัตว์ทะเลจึงไม่เป็นขุย ไม่เก็บฝุ่น หรือเก็บฝุ่นน้อยกว่าเส้นใยทั่วไป

นอกจากนี้สินค้า HOMEWARE ของดอยตุงยังมี แฟชั่นเสื้อผ้า เนคไท ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่สีธรรมชาติ ปลอกหมอน พรมยิง พรมทอ และเซรามิก ที่ใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น วัตถุดิบที่เลือกใช้ในงานทอเป็นเส้นใยฝ้ายประหยัดน้ำหรือ Better Cotton ซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าในการเพาะปลูก ส่วนเศษผ้าเล็กเกินกว่าจะใช้ได้ไปเผาเพื่อใช้เป็นพลังงานในการต้มน้ำร้อนเพื่อต้ม ฟอก และย้อมผ้าอีกครั้ง ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้ประมาณร้อยละ 50 ส่วนน้ำเสียจากโรงย้อมผ้าก็จะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย แล้วให้พืชน้ำดูดซับสารพิษและเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ น้ำที่บำบัดแล้วก็ใช้ในการรดน้ำต้นไม้ต่อไป จึงไม่มีของเหลือใช้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตนี้เลย สำหรับเซรามิกเกิดจากการรังสรรค์ก้อนดินให้กลายเป็นเครื่องใช้ โดยนำเปลือกกะลาแมคคาเดเมีย และหญ้าแฝกมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผา ทำให้เซรามิกของดอยตุงมีลวดลาย และสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครในแต่ละชิ้นงาน ด้านการบรรจุหีบห่อเพื่อส่งสินค้าให้ผู้บริโภค จะถูกใส่ลงในถุงซิปล๊อค ห่อกระดาษและถุงกระดาษ ถือเป็นการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก ส่วนถุงซิปล๊อคที่ใช้งานแล้วก็จะถูกส่งกลับมายังโรงทอเวียนกลับมาใช้งานอีกครั้ง  

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อมมาพร้อมกับขั้นตอนมากมายที่เพิ่มขึ้น ในอนาคตทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และแบรนด์ดอยตุง จึงกำลังพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของความไม่สะดวกสบายทั้งหลายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก ผ่านแฮชแท็ก #InconvenientIsneccessary  ..ติดตามอัปเดตเรื่องราวงานพัฒนาคนและธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ที่ www.maefahluang.org 

“ดอยตุง” เผยโฉมแฟชั่นสุดล้ำ “ดีไซน์สวย…ช่วยโลกได้”

เมื่อโลกแฟชั่นได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อสร้างความสุนทรีให้กับมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ อย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งกลายเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ตั้งใจ ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงขึ้น และผลักดันให้เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นต้น แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลไม่แพ้กันคือเราทุกคนก็กำลังส่งต่อปัญหานี้ไปสู่ลูกหลานในอนาคต ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นอาจไม่มีทางแก้แล้ว

ประเด็นสำคัญนี้จึงกลายมาเป็นแนวคิดหลักในการรังสรรค์งานแฟชั่นของ กลุ่มนักออกแบบ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้สร้างศิลปะแฟชั่นผ่านแบรนด์ ดอยตุง นำเสนอเรื่องราวการทอผ้าแบบดั้งเดิมตามวิถีชนเผ่า การทำเซรามิกสุดประณีต ที่เปลี่ยนก้อนดินให้กลายเป็นงานศิลปะรวมเข้ากับแฟชั่นการออกแบบ อันนำไปสู่ชิ้นงานสร้างสรรค์ที่เป็นมากกว่า เทรนด์ โดยนอกจาก ดีไซน์โก้ ฟังก์ชันดีแล้ว สิ่งที่ต้องยึดเป็นหัวใจสำคัญต่อจากนี้ไปคือ ต้องไม่ทำลายโลก โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบที่เหมาะสม กระบวนการผลิตที่มุ่งหวังที่จะลดขั้นตอนในการผลิต ระยะเวลาในการทำงานที่สั้นลง การลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต

โดยล่าสุด กลุ่มนักออกแบบ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้สร้างสรรค์ผลงานภายใต้แนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืนที่เน้นสมดุลแห่งความเรียบง่าย และลดผลกระทบต่อธรรมชาติให้มากที่สุดในทุกขั้นตอนการผลิต ยึดหลักแนวคิด ซีโร เวสต์ (Zero Waste) หรือ ขยะเหลือศูนย์ ตั้งแต่การออกแบบ ตัดเย็บเพื่อลดปริมาณของเสียเหลือทิ้งให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเหลือทิ้งเป็นขยะเลย ตลอดจนนำเอาขยะพลาสติกในท้องทะเล และเศษวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่สวยและใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ในการผลิตสินค้าเเฟชั่น

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับ 5 รางวัลคุณภาพ จาก 2 เวทีระดับประเทศ

การันตีผลงานคอลเล็กชันนี้ ด้วย 5 รางวัลคุณภาพ จาก 2 เวทีระดับประเทศ ได้แก่ 1 รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (Prime Minister’s Export Award :: PM Award 2020) ประเภทสินค้าที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม กลุ่มสินค้าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย และ 4 รางวัล สินค้าไทยที่มีการออกแบบดี (Design Excellence Award 2020 หรือ Demark) ประเภทกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์  กลุ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย และกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ จัดโดย สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมและยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

เสื้อโค้ท ดอยตุง คอลเล็กชัน “ม้ง” (HMONG)
กระเป๋า ดอยตุง คอลเล็กชัน “ม้ง” (HMONG)

โดยผลงานที่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ รังสรรค์ออกมาเป็นงานดีไซน์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คอลเล็กชันเสื้อโค้ท และ กระเป๋า ที่มีชื่อเดียวกันว่า ม้ง (HMONG) โดย เสื้อโค้ทม้ง (HMONG : Coat) ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกายชนเผ่าม้งบนดอยตุง ที่มีอากาศหนาวเย็น ผสมกับการเล่นสีสันที่สดใสเพิ่มความสนุกให้ชิ้นงาน และที่สำคัญคือการนำขวดพลาสติกเหลือใช้ขนาด 600 มิลลิลิตร จำนวน 130 ใบ มาผ่านกระบวนการอัพไซคลิง (Upcycling) ใช้เป็นวัสดุร่วมกับเส้นใยธรรมชาติ ถักทอออกมาเป็นเสื้อโค้ทแฟชั่นสุดล้ำ และยังมีฟังก์ชันพิเศษเลือกใส่ได้ 2 ด้าน 2 สไตล์ สามารถกันหนาว และกันละอองน้ำได้ดี ทำให้ไม่อับชื้น ส่วน กระเป๋าม้ง (HMONG: Shoulder Bag) ความเก๋อยู่ที่สร้างสรรค์จากลายผ้าที่มีความร่วมสมัย ทอด้วยเส้นใยธรรมชาติจากเยื่อไผ่ 100% และวัสดุด้านในยังเป็นฟรอยด์ฉนวนเก็บอุณหภูมิ สามารถใส่กล่องข้าว ลดการเกิดปัญหาอาหารบูดเสีย ฟู้ดเวสท์ (Food Waste) ได้ แถมยังมีความทนทานทำให้ยืดอายุการใช้งานของกระเป๋าได้นานขึ้น 

ดอยตุง เซรามิก คอลเลกชัน “ซีโร่” (CERRAMICS ZERO)

นอกจากนี้ยังได้ออกแบบชุดเซรามิกแก้วกาแฟและชุดชงกาแฟดริป ดีไซน์มินิมอล ชื่อว่า เซรามิกซีโร(CERAMICS ZERO) มีลูกเล่นตรงด้ามจับรูปทรงแปลกตา ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบจากความโค้งมนตามธรรมชาติ ทั้งยังโอบรับกับเส้นของลวดลายสีขาวตัดกับสีดำสนิทที่เกิดจากการเผาด้วยเทคนิคพิเศษ คือ การใช้เศษหญ้าแฝกและเปลือกแมคคาเดเมียที่ถูกทิ้งมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผา เขม่าควันที่เกิดขึ้นระหว่างการเผาช่วยสร้างสรรค์ ให้สีและลายของเซรามิกแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นเดียวในโลก ที่เกิดจากการนำเอาเศษเหลือทิ้งมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์กาแฟพีเบอร์รีดอยตุง

บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์กาแฟพีเบอร์รีดอยตุง

เช่นเดียวกับ อีก 1 ผลงาน ที่เกิดจากแนวคิดการนำเศษวัสดุที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตมาทำให้เกิดประโยชน์แทนการทิ้งเป็นขยะ คือ ผลงานการออกแบบ บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์กาแฟพีเบอร์รีดอยตุง ที่ตัวกล่องทำจากเศษวัสดุที่เหลือจากการผลิตกระดาษสาและเศษฝ้าย จากโรงงานสาและโรงงานทอผ้าของ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย โดยนำมาขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซรามิก ปูนปลาสเตอร์จะช่วยให้บรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นรูปแล้วแห้งเร็วขึ้น ลดเวลาการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นกระถางปลูกต้นไม้ได้ด้วย เพราะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ถือเป็นไอเดียสุดว้าวในการนำเศษเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตอื่นๆ มาสร้างเป็นผลงานชิ้นใหม่ได้อย่างมีคุณค่า

มาเป็นสายแฟชั่นรักษ์โลกที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพื่อโลกในวันนี้และในอนาคตไปพร้อมๆ กัน อัปเดตหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Facebook: DoiTungClub และ Line: @DoiTung_Lifestyle   

“ดอยตุง” รับ G Green รางวัลแห่งความภูมิใจ สร้างคนอยู่กับป่าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน

“ดอยตุง” ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการผลิตสินค้าหัตถกรรมจากชุมชน แต่ยังใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งงานผ้าฝ้ายทอมือผสมผสานด้วยเอกลักษณ์ท้องถิ่น และเซรามิกที่รังสรรค์ก้อนดินให้กลายเป็นเครื่องใช้สุดประณีต กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เลือกและพิจารณามอบโล่รางวัลสัญลักษณ์ G Green Production ประเภทเซรามิก ระดับดีเยี่ยม และประเภทสิ่งทอ ระดับดีเยี่ยม เพื่อรับรองว่าดอยตุงมีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

รางวัล G-Green เซรามิกและสิ่งทอ

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวถึงแนวคิดในการดำเนินงานของมูลนิธิและแบรนด์ดอยตุงไว้ว่า จากการที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานสร้างโอกาส พัฒนาชาวไทยภูเขาที่ขาดต้นทุนชีวิต ด้วยการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจเพื่อสังคม ยกระดับคุณภาพด้วยการพัฒนาป่าและคน โดยมีโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) ตามพระราชดำริ เป็นต้นแบบภายใต้แบรนด์ “ดอยตุง” ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามตำราแม่ฟ้าหลวง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตามแนวคิดคนอยู่กับป่าอย่างเป็นมิตร

สิ่งทอ(แฟชั่น)
สิ่งทอ(แฟชั่น)

โดยการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แทรกอยู่ในทุกขั้นตอนการผลิตนี้ เป็นที่มาของรางวัล G Green Production เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงงานทอผ้าที่อยู่ภายใต้แบรนด์ดอยตุง ที่ใส่ใจตั้งแต่วัตถุดิบที่เลือกใช้ในงานทอเป็นเส้นใยฝ้ายประหยัดน้ำหรือ Better Cotton ซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าในการเพาะปลูก และเส้นใยเหล่านี้ถูกนำมาย้อมสีด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น คราม ดอกทองกวาว หัวหอม กาแฟ หรือฮ่อม และยังให้สีที่แตกต่างกันตามแต่ละฤดูกาล เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ก่อนจะถูกถักทอเป็นผ้าบนกี่แบบดั้งเดิมด้วยฝีมือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนตัดเย็บหากเหลือเศษผ้าจะถูกนำมาแปรรูปใส่ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นของใช้ชิ้นเล็กอย่างพวงกุญแจหรือใช้ประดับตกแต่งลวดลายสินค้าต่อไป แต่ถ้าเศษผ้าเล็กเกินกว่าจะใช้ได้ เศษผ้าและเศษด้ายจะถูกนำไปเผาพร้อมกับกะลาแมคคาเดเมียเพื่อใช้เป็นพลังงานในการต้มน้ำร้อนสำหรับกระบวนการต้ม ฟอก และย้อมผ้าอีกครั้ง ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้ประมาณร้อยละ 50 ส่วนน้ำเสียจากโรงย้อมผ้าก็จะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้แนวคิด “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” ให้พืชน้ำดูดซับสารพิษและเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ น้ำที่บำบัดแล้วก็ใช้ในการรดน้ำต้นไม้ต่อไป จึงไม่มีของเหลือใช้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตนี้เลย ด้านการบรรจุหีบห่อเพื่อส่งสินค้าให้ผู้บริโภค จะถูกใส่ลงในถุงซิปล๊อค ห่อกระดาษและถุงกระดาษ ถือเป็นการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก ส่วนถุงซิปล๊อคที่ใช้งานแล้วก็จะถูกส่งกลับมายังโรงทอเวียนกลับมาใช้งานอีกครั้ง

เตาชีวมวล

หรือแม้แต่กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับโรงงานเซรามิก ก็มีความใส่ใจในทุกขั้นตอนเช่นกัน ตั้งแต่การเลือกดินหลากชนิดมาผสมกัน ปั้นหรือเทลงแบบพิมพ์กลายเป็นภาชนะต่างๆ การอบแห้งและเผาพร้อมชุบเคลือบด้วยหินแร่ เพื่อให้เกิดสีที่แตกต่างกันออกไปเวลาที่เผาในอุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส และถึงแม้เซรามิกจะไม่สามารถรีไซเคิลได้แบบวัสดุอื่นๆ ทางดอยตุงได้หาวิธีนำชิ้นส่วนเหล่านี้ไปบดเป็นผง ผสมดินในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อขึ้นรูปใหม่หรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำพื้นถนนเพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรอื่นๆ สำหรับแม่พิมพ์ของสินค้าเซรามิกที่ต้องอบแห้งก่อนการขึ้นรูป ดอยตุงเลือกใช้พลังงานชีวมวลจากเปลือกแมคคาเดเมียมาทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม โดยใช้เปลือกแมคคาเดเมียมาต้มน้ำร้อน และส่งความร้อนต่อไปที่อากาศแทน นอกจากนี้ยังมีการเผาอากาศด้วยก๊าซหุงต้มแบบเดิม จากการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน วิธีนี้ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้เกือบทั้งหมด ซึ่งการช่วยกันคิดค้นหาทางออกใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงไอเดียของผู้บริหารและนักออกแบบเท่านั้น แต่การคิดค้นในหลายๆ ครั้งยังเกิดจากชาวบ้านที่ปฏิบัติงานและเล็งเห็นปัญหาด้วย

ชุดเซรามิกดอยตุง
ชุดเซรามิกดอยตุง

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อมมาพร้อมกับขั้นตอนมากมายที่เพิ่มขึ้น ในอนาคตทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และแบรนด์ดอยตุง จึงกำลังพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของความไม่สะดวกสบายทั้งหลายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก ผ่านแฮชแท็ก #InconvenientIsneccessary  ..ติดตามอัปเดตเรื่องราวงานพัฒนาคนและธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ที่ www.maefahluang.org